ขณะนี้ตะกร้าสินค้าของคุณว่างเปล่า
pomphone_admin
ฉลองเปิดเว็บไซต์ใหม่ ใส่โค้ดส่วนลด “newweb100”
สิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งในตัวของมนุษย์ที่มีความซับซ้อน และเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ก็คือ “สมอง” เพราะสมองของมนุษย์มีระบบการทำงานที่หลากหลาย, ซับซ้อน และประมวลผลด้วยความรวดเร็วกว่าการกระพริบตาเสียอีก นอกจากนี้ สมองของมนุษย์ยังเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ที่เราพบเห็นกันได้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะนวัตกรรมอย่าง “สมาร์ทโฟน” ที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของเราไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีมันสมองไว้ใช้งาน เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะอย่างสมาร์ทโฟนก็จำเป็นต้องมีสมองของตนเองสำหรับรับคำสั่ง และแสดงผลตามความต้องการของมนุษย์ด้วย และมันสมองซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสมาร์ทโฟนนั้นถูกเรียกว่า “ชิปเซ็ตประมวลผล”
แม้ว่าชิปเซ็ตประมวลผลจะเป็นส่วนประกอบสำคัญมากสำหรับสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถเทียบกับมันสมองของมนุษย์ได้ แต่ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ “ความจำ” ซึ่งความจำของสมาร์ทโฟนที่ทำงานควบคู่ไปกับชิปเซ็ตก็คือ หน่วยความจำแรม (RAM) ซึ่งส่วนประกอบทั้งสองส่วนนี้จะเรียกว่าทำงานแยกออกจากกันหรือไม่ก็ไม่เชิง แต่ก็ไม่ถือเป็นสิ่งเดียวกัน ทำให้ผู้ใช้หลายๆ คนที่ไม่สันทัดทางด้านเทคโนโลยีเกิดความสับสนขณะมองดูรายละเอียดสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ว่า “แล้วอะไรที่ทำให้เครื่องเร็วกว่ากัน?” วันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter จึงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ “ชิปเซ็ตประมวลผล” และ “หน่วยความจำแรม (RAM)” ว่าอุปกรณ์ทั้งสองอย่างที่เปรียบเสมือนแกนหลักในการทำงานของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันนั้น ทำงานอย่างไร และอะไรที่ทำให้สมาร์ทโฟนของเราใช้งานได้ลื่นไหลไม่สะดุด ถ้าหากพร้อมแล้วก็ขอเชิญทุกท่านติดตามชมไปพร้อมกันได้เลยครับ
ชิปเซ็ตประมวลผล (Processor) คืออะไร?
ชิปเซ็ตประมวลผล หรือ หน่วยประมวลผล (ในบทความนี้จะสื่อถึงการใช้งานบนสมาร์ทโฟนเท่านั้น) เป็นอุปกรณ์สำหรับรับคำสั่งแล้วนำไปประมวลผลให้ทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นตามความต้องการของผู้ใช้ เช่น การเปิดกล้อง, การโทรศัพท์, การเข้าแอปพลิเคชัน ฯลฯ ซึ่งหน่วยประมวลผลนี้ถือเป็น “สมอง” ของสมาร์ทโฟน เพราะการใช้งานทุกอย่างแม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ต้องผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยประมวลผลก่อนทั้งสิ้น หรือในอีกทางหนึ่งหน่วยประมวลผลก็คืออุปกรณ์ผู้ซื่อสัตย์ที่คอยรับคำสั่งเจ้านายไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดโดยไม่สามารถปฏิเสธได้นั่นเอง
Quad-Core หรือ Octa-Core คืออะไร?
ส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของหน่วยประมวลผลก็คือ แกนประมวลผล (Core) ที่มีหน้าที่หลักคือ การรับชุดคำสั่งจากผู้ใช้ แล้วนำไปปฏิบัติตาม ถ้าหากชิปเซ็ตรุ่นนั้นมีแกนประมวลผลเยอะ ก็ยิ่งใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แกนประมวลผลในแต่ละแกนจะมีความเร็วในการประมวลผลที่แตกต่างกันออกไปด้วย โดยในปัจจุบันเรามักจะพบเห็นการระบุจำนวนแกนประมวลผลด้วยคำเหล่านี้ คือ Quad-Core (4 แกน), Hexa-Core (6 แกน), Octa-Core (8 แกน) และ Deca-Core (10 แกน) โดยจำนวนแกนยิ่งเยอะก็ยิ่งทำงานได้มากขึ้น ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบง่ายๆ คือ สมมติแกนประมวลผลจำนวน 6 แกน (Hexa-Core) เป็นหุ่นยนต์ของเราจำนวน 6 ตัว เราสามารถสั่งให้หุ่นยนต์ตัวที่หนึ่งไปเปิดโทรทัศน์, สั่งให้หุ่นตัวที่สองไปทำความสะอาดบ้าน, สั่งให้หุ่นตัวที่สามไปหยิบของกิน ฯลฯ ในเวลาพร้อมๆ กันได้ และถ้าหากแกนไหนมีความเร็วในการประมวลผลสูงๆ เช่น 2.0GHz ก็เหมือนการสั่งให้หุ่นยนต์ตัวนั้นไปทำงานในความเร็วระดับสูงนั่นเอง
จำนวน Core เยอะกว่าก็ต้องเร็ว และแรงกว่าจริงหรือไม่?
ถ้าหากเปรียบเทียบในระดับความเร็วการประมวลผลเท่ากันที่ 1.0GHz และเป็นแกนรุ่นเดียวกัน การที่มีจำนวนแกนประมวลผลเยอะกว่า ช่วยให้สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมากกว่าเท่านั้น เช่น แกนที่ 1 กำลังใช้งาน web browsing อยู่ ขณะที่แกนที่สองก็แสตนบาย เมื่อมีโทรศัพท์เข้า แกนประมวลผลตัวที่สองก็ทำหน้าที่กับส่วนโทรศัพท์ทันที เป็นต้น ดังนั้นการที่จำนวนแกนเยอะกว่าไม่ได้เป็นเพิ่มความเร็วในการใช้งานแต่อย่างใด เปรียบเทียบได้กับ แกนประมวลผลจำนวน 4 แกน กับ 8 แกน เป็นรถส่งของจำนวน 4 คัน และ 8 คัน ที่ทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 100 กม./ชม. คนที่มีรถ 8 คันก็สามารถไปส่งของ และรับของกลับได้หลายที่มากกว่าคนที่มีรถ 4 คันนั่นเอง
แต่ในปัจจุบันนี้ เราจะดูแต่จำนวน Core เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะชิปเซ็ตบางรุ่นแม้มีจำนวน Core ที่น้อยกว่า แต่มาพร้อมความเร็วที่มากกว่าเป็นเท่าตัว เช่น ชิปเซ็ต Snapdragon 821 ที่เปิดตัวในช่วงกลางปี 2016 ใช้งานแกนประมวลผลเพียง 4 แกน (Quad-Core) แต่มาพร้อมความเร็วสูงถึง 2.4GHz ถ้าหากนำไปเทียบกับชิปเซ็ต 8 แกน (Octa-Core) ที่มีความเร็วประมาณ 1.5GHz ก็เหมือนรถ 4 คันที่วิ่งด้วยความเร็วระดับ 240 กม./ชม. กับรถ 8 คันที่วิ่งด้วยความเร็ว 150 กม./ชม. มาแข่งวิ่งรับของแบบไปกลับในระยะทางที่เท่ากัน ซึ่งแม้ว่าจำนวนรถ 4 คันจะน้อยกว่า แต่มีความเร็วที่เหนือกว่ามาก แม้การเทียบกับความเร็วของรถยนต์จะดูห่างกันไม่มาก แต่ในความเป็นจริงการส่งข้อมูลดิจิทัลเช่นนี้มีการส่งสัญญาณไปกลับมากกว่าล้านครั้งต่อวินาทีเสียอีก ดังนั้นแม้ว่าความเร็วจะต่างกันเพียง 0.9GHz ก็ถือว่าห่างกันมากเลยทีเดียว
RAM ทำงานต่างจากชิปเซ็ตอย่างไร?
อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่าชิปเซ็ตประมวลผลมีหน้าที่เป็น “สมอง” ของสมาร์ทโฟน หน่วยความจำแรม (RAM) ก็เปรียบเสมือน “ระบบความจำ” ของมนุษย์ แต่พิเศษกว่าตรงที่ว่ามันสามารถทำหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน โดยการทำงานของแรมก็คือ เมื่อผู้ใช้เปิดแอปพลิเคชันใดๆ ก็ตามขึ้นมาหนึ่งโปรแกรม ตัวโปรแกรมนั้นจะถูกโหลดเข้าไปสู่หน่วยความจำแรม จากนั้นเมื่อผู้ใช้ปิดแอปพลิเคชัน ตัว RAM ก็จะเก็บ และพักข้อมูล ณ จุดที่ผู้ใช้กดออกเอาไว้ เมื่อผู้ใช้กลับเข้ามาใช้งานแอปพลิเคชันเดิมอีกครั้งก็จะสามารถใช้งานต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องโหลดโปรแกรมใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งจำนวนแอปพลิเคชันที่สามารถพักไว้ใน RAM ได้ก็ขึ้นอยู่ความจุของ RAM และตัวแอปพลิเคชันเองว่าต้องการใช้งานหน่วยความจำแรมสำหรับพักข้อมูลเป็นขนาดเท่าใด
จะเห็นว่าการทำงานของชิปเซ็ต และแรมนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะชิปเซ็ตทำหน้าที่ประมวลผล ส่วนแรมทำหน้าที่มอบพื้นที่ให้โปรแกรมใช้ประมวลผล, เข้าถึงข้อมูล หรือพักการใช้งาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ แรมไม่สามารถประมวลผลได้เอง ได้แต่ส่งต่อข้อมูลให้กับชิปเซ็ตเท่านั้น แต่แม้ว่าการทำงานของ “ชิปเซ็ต” และ “แรม” จะแตกต่างกัน แต่ทั้งสองก็ยังต้องใช้งานร่วมกัน จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะแรมถือเป็นส่วนประกอบหลักสำหรับการใช้งานแบบ Multitasking ของสมาร์ทโฟนเลยทีเดียว
ข้อมูลเพิ่มเติม – (บทความ) RAM นั้นสำคัญไฉน? มือถือ RAM ใหญ่จุใจถึง 8GB ดีกว่า RAM 4GB จริงหรือไม่? สมาร์ทโฟนที่ดีควรมีหน่วยความจำแรม (RAM) ขนาดเท่าใดจึงจะใช้งานได้ลื่นไหลที่สุด พบคำตอบได้ที่นี่!
แล้วชิปเซ็ตกับ RAM อะไรทำให้สมาร์ทโฟนเร็วแรงมากกว่ากัน?
หากว่ากันตามตรงแล้ว สมาร์ทโฟนจะเร็ว และแรงได้ก็ต้องมีชิปเซ็ตที่ดี และ RAM ที่เหมาะสมไว้ใช้งานร่วมกัน แต่บางครั้งการจับคู่ชิปเซ็ตกับ RAM ของสมาร์ทโฟนบางรุ่นก็ไม่เอื้ออำนวยให้ใช้งานได้เร็วแรงเท่าใดนัก เช่น การใช้งานชิปเซ็ตความเร็ว 1.8GHz ก็ถือว่าเป็นความเร็วที่พอใช้ได้ แต่กลับมีหน่วยความจำแรม (RAM) เพียง 2GB ที่ค่อนข้างเล็ก ซึ่งในปัจจุบันแอปพลิเคชันต่างๆ ใช้พื้นที่แรมค่อนข้างมาก ทำให้แรมเต็มอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่อให้ชิปเซ็ตประมวลผลได้เร็วเพียงใดแต่ถ้าหากแรมมีขนาดเล็กเกินไป หรือแรมไม่พอส่งข้อมูลให้ประมวลผลก็ทำให้เครื่องช้าได้
เช่นเดียวกันกับการจับคู่แบบแรม 3-4GB กับชิปเซ็ตความเร็วประมาณ 1.3-1.4 GHz ถึงแม้แรมจะมีขนาดใหญ่ แต่ชิปเซ็ตมีความเร็วการประมวลผลที่ค่อนข้างจะช้า (สำหรับมาตรฐานในปัจจุบัน) ก็ทำให้การใช้งานดูไม่สมดุลเท่าใดนัก ดังนั้น การจับคู่ที่ดีที่ช่วยให้สมาร์ทโฟนใช้งานได้ลื่นไหล ไม่ติดขัด ทั้งชิปเซ็ต และแรมก็ควรจะต้องสอดคล้องกัน ทำให้การใช้งานไปด้วยกันได้ด้วย
สรุป
สมาร์ทโฟนที่ใช้งานได้ดี โดยมีประสิทธิภาพที่เร็ว และแรงนั้น เป็นผลมาจากการจับคู่ชิปเซ็ตประมวลผล และหน่วยความจำแรม (RAM) ที่สอดคล้องกัน ตัวชิปเซ็ตเองต้องประมวลผลได้รวดเร็ว และแรมก็ต้องมีขนาดใหญ่มากพอที่จะส่งข้อมูลให้กับชิปเซ็ตได้อย่างต่อเนื่องด้วย โดยการจับคู่ชิปเซ็ตกับแรมที่ดีในความคิดของผู้เขียนอาจสรุปได้ ดังนี้
– กลุ่มสมาร์ทโฟนเรือธง และระดับ Mid-High ควรมีชิปเซ็ตประมวลผลความเร็วระดับ 1.9GHz ขึ้นไป + หน่วยความจำแรม (RAM) ขนาด 4-6GB
– กลุ่มสมาร์ทโฟนระดับกลางควรมีชิปเซ็ตประมวลผลความเร็วระดับ 1.5-1.9GHz + หน่วยความจำแรม (RAM) ขนาด 3-4GB
– กลุ่มสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นควรมีชิปเซ็ตประมวลผลความเร็วระดับ 1.3-1.5GHz + หน่วยความจำแรม (RAM) ไม่ควรน้อยกว่าขนาด 2GB
และสำหรับท่านใดที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่อยู่ในขณะนี้ ทางทีมงานก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นข้อมูลเบื้องต้น และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับท่านผู้อ่านได้นะครับ สำหรับวันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com