ขณะนี้ตะกร้าสินค้าของคุณว่างเปล่า
pomphone_admin
ฉลองเปิดเว็บไซต์ใหม่ ใส่โค้ดส่วนลด “newweb100”
หากย้อนกลับไปในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่มือถือพร้อมกล้องถ่ายภาพเปิดตัวออกมาเป็นรุ่นแรกๆ ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ใช้ทั่วโลกได้ไม่น้อย แม้ว่าในขณะนั้นภาพถ่าย หรือคลิปวิดีโอนั้นๆ จะมีความละเอียดที่ค่อนข้างน้อยมากก็ตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไปฟีเจอร์ “กล้องถ่ายภาพ” ได้กลายเป็นจุดขายหลักของสมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่นไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ไปจนถึงรุ่นเรือธง โดยแบรนด์ผู้ผลิตทุกค่ายต่างก็มุ่งมั่นพัฒนากล้องถ่ายภาพให้มีประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งล่าสุดนวัตกรรมใหม่ของกล้องถ่ายภาพได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการใช้งาน “กล้องคู่ (Dual-Camera)” และกำลังเป็นกระแสนิยมที่เกือบทุกแบรนด์ต่างมีกันหมดแล้ว
แม้เทคโนโลยีกล้องคู่จะกำลังมาแรงมากในขณะนี้ แต่ผู้ใช้จำนวนไม่น้อยต่างก็สงสัยว่า จริงๆ แล้วกล้องคู่จำเป็นต่อการใช้งานจริงหรือ? หรือว่ากล้องคู่สามารถถ่ายภาพได้ดีกว่ากล้องเดี่ยวอย่างไร? วันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter จึงจะพาทุกท่านมารู้จักกับเทคโนโลยีกล้องคู่ว่ามีประโยชน์อย่างไร, สามารถทำอะไรได้บ้าง และจำเป็นต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันของเรามากน้อยเพียงใด หากพร้อมแล้ว ขอเชิญติดตามชมไปพร้อมกันได้เลยครับ
รู้จักกับเทคโนโลยีกล้องคู่ (Dual-Camera)
ปกติแล้วกล้องมือถือตลอดเวลาที่ผ่านมาเกือบสิบปีจะใช้งานกล้องเพียงตัวเดียวมาโดยตลอด แต่เมื่อนักพัฒนาเห็นว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องเดี่ยวนั้นยังให้ภาพที่ไม่สวยงามเท่ากับกล้องโปร DSLR จึงพัฒนาเทคโนโลยีกล้องคู่เพื่อเสริมการใช้งานในจุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ชื่นชอบการถ่ายภาพเพื่อนๆ หรือภาพ Selfie กันมากขึ้น ก็ยิ่งต้องพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายภาพให้ดียิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน
โดยปกติแล้ว กล้องคู่บนสมาร์ทโฟนทั่วไปจะใช้งานกล้องตัวแรกเป็นกล้องหลัก โดยทำหน้าที่เป็นกล้องที่เก็บภาพที่อยู่ตรงหน้า ส่วนกล้องตัวที่ 2 มีหน้าที่เก็บรายละเอียดเสริม เช่น การเบลอฉากหลัง, การเก็บรายละเอียดแสงเงา หรือแม้แต่การซูมภาพ ซึ่งหลังจากการเก็บภาพด้วยกล้องทั้งสองตัวแล้ว ซอฟต์แวร์ก็จะนำภาพจากกล้องมารวมกันเป็นภาพๆ เดียว และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ภาพมีการเบลอฉากหลัง หรือภาพมีรายละเอียดแสงเงาที่เข้มขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ สมาร์ทโฟนบางรุ่นอาจเพิ่มเติมประสิทธิภาพของกล้องด้วยการแยกใช้งานเซ็นเซอร์รับภาพสำหรับกล้องสองตัว เพื่อเก็บรายละเอียดของภาพได้ดีที่สุดด้วย
กล้องคู่กับการสร้างฉากหลังเบลอ หรือ Bokeh
การทำฉากหลังเบลอ หรือการสร้างโบเก้ (Bokeh) นั้น จะเกิดขึ้นเป็นปกติกับกล้องถ่ายภาพทั่วไป เมื่อใช้ขนาดรูรับแสงกว้าง และระยะของเลนส์ + ตัวแบบห่างกันอย่างเหมาะสม โดยจุดที่เบลอนั้นมักเป็นฉากหลังที่ไม่อยู่ในระยะโฟกัส (เพราะโฟกัสที่วัตถุ หรือคน) ซึ่งการสร้างฉากหลังเบลอ หรือโบเก้ถือเป็นเสน่ห์ และเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของการถ่ายภาพ ซึ่งกล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนยังไม่สามารถทำได้เทียบเท่ากล้องใหญ่ เพราะพื้นที่สำหรับการขยับชิ้นเลนส์ และเซ็นเซอร์รับภาพที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟนมีขนาดเล็กเกินไป และไม่สามารถเบลอฉากหลัง หรือสร้างโบเก้ได้ตามธรรมชาติของกล้องถ่ายภาพ ดังนั้น กล้องตัวที่สองบนสมาร์ทโฟนจึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานได้ด้านนี้โดยเฉพาะเลยก็ว่าได้
สังเกตได้ว่าสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ที่มีการใช้งานกล้องคู่ มักจะชูจุดขายในเรื่องการถ่ายภาพแบบ หน้าชัด-หลังเบลอ เกือบทั้งสิ้น โดยลักษณะการทำงานของกล้องคู่ในโหมด Portrait หรือโหมด Bokeh ก็คือ กล้องตัวแรก หรือกล้องหลักจะจับโฟกัสที่วัตถุ หรือตัวแบบ ส่วนกล้องตัวที่สองจะเก็บภาพในลักษณะแบบเบลอเกือบทั้งหมด จากนั้นซอฟต์แวร์จะทำการประมวลผลว่าระยะความห่างของฉากหลังกับวัตถุอยู่ใกล้-ไกลกันมากเพียงใด แล้วปรับความเบลอให้ดูเป็นธรรมชาติ จากนั้นก็นำภาพทั้งสองมารวมกัน และกลายเป็นภาพถ่ายแบบ หน้าชัด-หลังเบลอ ที่คล้ายกับการถ่ายด้วยกล้องใหญ่เลยทีเดียว ซึ่งถ้าหากใช้สมาร์ทโฟนกล้องเดี่ยวถ่ายก็ต้องถ่ายถึงสองรอบ และเมื่อเราขยับกล้องออกจากจุดเดิม แน่นอนว่าทิศทางแสง, จุดโฟกัส หรือระยะต่างๆ ก็จะเพี้ยนไป และเราไม่สามารถจะถ่ายภาพแบบเดิมในจุดเดิมได้อีก ดังนั้น การวางเลนส์กล้องตัวที่สองไว้คู่กล้องตัวแรกโดยห่างกันไม่ถึง 1 เซ็นติเมตร แล้วกดชัตเตอร์พร้อมกันก็จะสามารถเก็บรายละเอียดภาพในมุมเดียวกันได้ดีกว่ามาก แล้วนำมารวมกันในภายหลัง
แต่การถ่ายภาพด้วย Portrait Mode หรือโหมดโบเก้ (เรียกต่างกันออกไปในแต่ละรุ่น) ด้วยการใช้กล้องคู่ร่วมกับการประมวลผลจากซอฟต์แวร์ก็ยังมีจุดรบกวนเล็กๆ บางอย่าง นั่นก็คือ บางครั้งภาพที่ถ่ายออกมา ขอบของตัวแบบ หรือวัตถุ จะมีการเบลอไปด้วย ทำให้ขอบของ object ที่อยู่ในโฟกัสไม่คมชัด ซึ่งเกิดจากการที่ซอฟต์แวร์ของสมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ คิดว่าขอบของ object เป็นฉากหลัง จึงถูกทำให้เบลอ ซึ่งในจุดนี้ยังเป็นจุดที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมสำหรับส่วนของซอฟต์แวร์ที่ประมวลผลภาพ
กล้องคู่กับการซูมภาพแบบ Lossless
หากเราถ่ายภาพด้วยกล้องโปร เวลาเราจะซูมภาพ เราก็เพียงแค่หมุนกระบอกเลนส์ให้ชิ้นเลนส์แยกห่างออกจากกันเท่านั้น และสามารถกดชัตเตอร์ได้ทันที แต่สำหรับกล้องบนสมาร์ทโฟนไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะชิ้นเลนส์ของกล้องไม่สามารถขยับได้ ดังนั้น การซูมภาพแบบปกติจึงต้องใช้ซอฟต์แวร์เข้าช่วย หรือที่เรียกว่า Digital Zoom ซึ่งการซูมภาพเช่นนี้ ยิ่งซูมมากเท่าไหร่ ภาพก็ยิ่งเสียรายละเอียด และความคมชัดมากขึ้น เพราะการซูมภาพเช่นนี้ไม่ใช่การซูมแบบเดียวกับกล้องโปร แต่เป็นเพียงการขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อกล้องเดี่ยวไม่สามารถซูมภาพแบบไม่สูญเสียรายละเอียดได้ กล้องคู่จึงต้องทำหน้าที่นี้แทน
กล้องคู่บนสมาร์ทโฟนบางรุ่นจะใช้งานเลนส์ตัวที่สองเป็นเลนส์ Telephoto ซึ่งมีระยะการรับภาพที่ไกลขึ้น เมื่อนำมารวมกับเลนส์กล้องตัวหลัก (ที่ส่วนมากมักเป็นเลนส์ Wide หรือระยะ Normal เพื่อถ่ายภาพได้ค่อนข้างกว้าง) และบวกกับการสลับการรับภาพจากเลนส์คนละตัวด้วยซอฟต์แวร์ก็ทำให้กล้องคู่ตัวนั้นสามารถซูมภาพได้แบบไม่เสียรายละเอียดแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีการซูมภาพด้วยกล้องคู่แบบ Lossless นั้นยังสามารถทำได้จริงแค่ระดับ 2X เท่านั้น แต่คาดว่าในอนาคตน่าจะมีการพัฒนาให้ซูมได้ไกลขึ้น
กล้องคู่กับเลนส์มุมกว้าง (Wide Angle)
(ภาพถ่ายจาก LG G5)
แน่นอนว่าเมื่อมีแบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนบางรุ่นใส่เลนส์รับภาพแบบ Telephoto เข้าไปเป็นเลนส์กล้องตัวที่สองแล้ว ก็ต้องมีผู้นำเอาเลนส์มุมกว้าง (Wide) มาใช้เป็นเลนส์ตัวที่สองเช่นเดียวกัน โดยเลนส์รับภาพมุมกว้างจะเหมาะการเก็บภาพในสถานที่ที่กว้างใหญ่ หรือเก็บวิวทิวทัศน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเลนส์ Wide จะเหมาะสำหรับการถ่ายภาพแบบ Landscape หรือแนวสถาปัตยกรรมที่มีความใหญ่โตโอ่อ่า เพราะภาพที่ได้จะสื่อถึงความกว้าง หรือความใหญ่โตได้เป็นอย่างดี และเช่นเดียวกันกับกล้องที่มีเลนส์รับภาพระยะไกล การใช้งานเลนส์ Wide ตัวสมาร์ทโฟนเองก็ต้องมีการสลับการรับภาพจากเลนส์กล้องด้วยซอฟต์แวร์เช่นกัน แต่การใช้เลนส์ Wide มักไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะไม่ต้องรวมภาพเหมือนการทำ Bokeh อีกทั้งการถ่ายมุมกว้างจะไม่เน้นการซูมไปเฉพาะจุด ทำให้ไม่สูญเสียรายละเอียดของภาพด้วย
กล้องคู่กับนวัตกรรมการรวมภาพให้มีคุณภาพสูงขึ้น
นอกจากเทคโนโลยีกล้องคู่จะมีส่วนช่วยในเรื่องมุมมองการรับภาพ หรือการสร้างสรรค์ความสวยงามของภาพได้แล้ว แบรนด์ผู้ผลิตบางรายยังเพิ่มประสิทธิภาพของกล้องด้วยการแยกใช้งานเซ็นเซอร์รับภาพสำหรับกล้องทั้งสองตัว โดยส่วนมากเซ็นเซอร์ตัวแรกมักใช้สำหรับการเก็บภาพสี (RGB) ขณะที่เซ็นเซอร์ตัวที่สองใช้สำหรับการเก็บแสงเงา แล้วนำภาพจากทั้งสองเซ็นเซอร์มารวมกัน ทำให้ได้ภาพสีที่คมชัด มี contrast และแสงเงาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นข้อดี และทำให้ภาพถ่ายมีความสวยงามขึ้นด้วย อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการถ่ายภาพในที่แสงน้อย เพราะกล้องตัวที่สองจะเก็บเฉพาะแสงเพียงอย่างเดียว ทำให้ภาพที่ได้มีความสว่างมากขึ้น
แต่ถ้าลองคิดในมุมกลับกัน การใช้งานเซ็นเซอร์รับภาพจำนวนสองตัว เท่ากับว่าเซ็นเซอร์นั้นจะมีขนาดเล็กลง ทำให้คุณภาพของภาพถ่ายลดลงไปด้วย ซึ่งแตกต่างกับสมาร์ทโฟนกล้องเดี่ยวที่สามารถใช้เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่เท่ากับเซ็นเซอร์สองตัวได้อย่างสบายๆ และเป็นปัจจัยหลักที่ให้คุณภาพของภาพถ่ายที่ดีกว่าด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วการเพิ่มจำนวนกล้อง หรือเซ็นเซอร์นั้นไม่ได้ช่วยเพิ่มคุณภาพของภาพถ่ายแต่อย่างใด เพราะคุณภาพของภาพถ่ายนั้นอยู่ที่การใช้งานเซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่เท่านั้นจึงจะสามารถเก็บรายละเอียดต่างๆ ได้ครบถ้วน และมีความคมชัดมากกว่า เช่นเดียวกับกล้องโปรที่มีเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่นั่นเอง
ผลการจัดอันดับสมาร์ทโฟนกล้องดีที่สุดจาก DxOMark
เมื่อโลกของการถ่ายภาพจากกล้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้งานบนสมาร์ทโฟนที่มีขนาดเล็กลง แน่นอนว่าแบรนด์ผู้ผลิตแต่ละรายยิ่งต้องทุ่มเทพัฒนาฟีเจอร์กล้องถ่ายภาพของตนเองให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดไว้สำหรับแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ ซึ่งทางทีมงาน DxOMark ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทดสอบกล้องถ่ายภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ก็มีการจัดอันดับกล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนด้วย โดยรายละเอียดคะแนนในกลุ่ม Top 5 มีดังนี้
จะเห็นได้ว่าสมาร์ทโฟนกล้องคู่ที่ติดอันดับ Top 5 มีอยู่ 3 รุ่นด้วยกัน คือ Huawei P10, OnePlus 5 และ LG G5 ที่ได้คะแนนทดสอบไป 87 คะแนนสำหรับสองรุ่นแรก และ 86 คะแนนสำหรับรุ่นหลังสุด แต่สมาร์ทโฟนกล้องดีที่สุดในขณะนี้คือ HTC U11 ที่ใช้งานกล้องถ่ายภาพแบบเดี่ยวเท่านั้น เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนในกลุ่มลำดับที่ 2 และ 3 ก็เป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้งานกล้องเดี่ยวเช่นเดียวกัน ซึ่งการจัดอันดับนี้ก็น่าจะแสดงให้เห็นได้ว่า ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนกล้องเดี่ยวที่ใช้งานเซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่เพียงตัวเดียวสามารถให้คุณภาพของภาพถ่ายที่สูงกว่าสมาร์ทโฟนกล้องคู่อยู่เล็กน้อย แต่ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตข้างหน้าอีก 2-3 ปี อาจมีมือถือกล้องคู่ที่พัฒนาขีดความสามารถได้สูงขึ้นจนสามารถคว้าตำแหน่งสมาร์ทโฟนกล้องดีที่สุดในโลกก็เป็นได้
สรุป
แม้ว่าเทคโนโลยีของกล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนจะก้าวล้ำไปมากเพียงใด แต่ความสวยงามของภาพถ่ายก็ไม่สามารถวัดกันได้แบบจริงจังแม้แต่น้อย เพราะความสวยงามของภาพขึ้นอยู่กับความชอบ และรสนิยมส่วนบุคคลเป็นหลัก ซึ่งถ้าหากใครที่ชื่นชอบภาพถ่ายแบบ หน้าชัด-หลังเบลอ จากโหมด Portrait หรือโหมด Bokeh, การถ่ายภาพแบบ Wide Angle หรือการซูมภาพแบบ Lossless ก็สามารถเลือกใช้สมาร์ทโฟนกล้องคู่ที่มีให้เลือกมากมายหลายรุ่นได้ทันที
สำหรับจุดประสงค์ของบทความนี้ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นถึงความสามารถ และประสิทธิภาพของกล้องคู่ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง และเหมาะกับการใช้งานแนวไหน เพื่อให้ผู้ใช้ที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ได้ไตร่ตรอง และคัดเลือกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นจะตอบโจทย์การใช้งานของตนเองได้มากที่สุด ซึ่งผู้เขียนเองไม่ตัดสินว่ากล้องเดี่ยว หรือกล้องคู่จะดีกว่ากัน เพราะกล้องทั้งสองแบบมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในบางครั้งตัวผู้เขียนก็ชื่นชอบภาพถ่ายจากทั้งสมาร์ทโฟนกล้องคู่ และกล้องเดี่ยวบางรุ่น เพราะให้ภาพที่ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ, สีสันคมชัดสดใส และใกล้เคียงกับภาพจากกล้องโปร ซึ่งเราพอใจกับภาพนั้นๆ โดยที่เราไม่ต้องแบกกล้องหนักๆ ติดตัวตลอดเวลาด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่ความชอบส่วนบุคคลด้วยนะครับ
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนกล้องเดี่ยว หรือกล้องคู่ก็สามารถถ่ายภาพให้สวยงามได้ทั้งนั้น เพราะภาพถ่ายที่สวยงามจริงๆ นอกจากจะได้มาเพราะอุปกรณ์มีส่วนช่วยแล้ว มุมมองของตัวผู้ถ่ายเองนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้น ขอให้ผู้ใช้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจได้เลือกสรรสมาร์ทโฟนที่มีกล้องถ่ายภาพตอบโจทย์ของตนเองมากที่สุด และสนุกกับการกดชัตเตอร์ต่อไป เท่านี้ก็เพียงพอแล้วครับ สำหรับวันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ
เรียบเรียงข้อมูลจาก : ubergizmo